นายธนิต อยู่โพธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2450 ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาภายหลังได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากร จนกระทั่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาการสังคม (ด้านศิลปวัฒนธรรม) เมื่อ พ.ศ. 2535 เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2547
เริ่มรับราชการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2477 สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนพนักงานชั้นจัตวา แผนกโบราณคดี กองศิลปากร กรมศิลปากร
เมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงพ้นตำแหน่งหน้าที่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2508 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรและรับราชการอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ประมาณ 12 ปี
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรนั้น นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้พยายามนำเอาหลักการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา สมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา และนำหลักการดำเนินงานของกรมศิลปากร สมัยพลตรี หลวงวิจิตรวาทการและสมัยพระยาอนุมานราชธนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร มาศึกษาและดำเนินตามโดยแก้ไขปรับปรุงตามสภาพแวดล้อมสมัยนั้น ผลงานบางส่วนของท่านได้แก่
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิจัยเครื่องแต่งกายตามสมัยประวัติศาสตร์และโบราณคดี และประดิษฐ์ขึ้นไว้ พร้อมทั้งประดิษฐ์ท่ารำขึ้นให้สอดคล้องกัน เรียกชุดระบำโบราณคดีมี 5 ชุด คือ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย และจัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511
นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้แต่งแปล และเรียบเรียง ตรวจแก้และตรวจสอบชำระหนังสือเรื่องต่างๆ ขึ้นไว้ 200 เรื่อง โดยทั่วไปเป็นเรื่องสารคดีทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนา ส่วนมากพิมพ์เผยแพร่แล้ว เช่น ประวัติเสียดินแดนสยาม 8 ครั้ง เรื่องทางโบราณคดี เช่น สุวรรณภูมิ พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี ฯลฯ เรื่องทางวรรณคดี เช่น ประวัติและโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ วรรณคดีกับชีวิตและการเมือง ฯลฯ เรื่องทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ เช่น โขน ศิลปะละครรำหรือคู่มือนาฏศิลป์ไทย ฯลฯ เรื่องทางศิลปะ เช่น ศิลปะและศีลธรรม ความหมายและจิตวิทยาเกี่ยวกับสี ฯลฯ เรื่องทางศาสนา เช่น ภาวะเศรษฐกิจสมัยพุทธกาล ตำนานเทศน์มหาชาติ ฯลฯ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไม่ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม แต่ด้วยความปรารถนาที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก ท่านได้ร่วมกับเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธนจัดทำหนังสือชุดวัฒนธรรมไทยขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า "Thai Culture Series" ต่อมาได้จัดทำขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อว่า "Thai Culture, New Series" เป็นอนุสารอังกฤษว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการและได้ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้พิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวมของชาติ จึงติดต่อขอทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณก็ได้รับอนุมัติและจัดงบประมาณค่าจัดพิมพ์และเผยแพร่ให้แก่กรมศิลปากรต่อมา
1. เมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ฟื้นฟูปรับปรุงทั้งสถานที่และอาจารย์กับทั้งหลักสูตรให้ได้มาตรฐานตามระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆ กล่าวคือ ปรับปรุงสถานที่เรียนจากโรงไม้เป็นอาคารก่อตึก ปรับปรุงอาจารย์ซึ่งก่อนหน้านั้นมีฐานะเป็นลูกจ้างต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำโดยเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับใหม่ให้ยกฐานะเป็นข้าราชการสืบมาจนบัดนี้ ส่วนหลักสูตรมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ปรับปรุงมาโดยลำดับ
3. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้นำคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ไปแสดงเป็นการเจริญสันถวไมตรีในประเทศต่างๆ
4. ได้เดินทางไปประชุมสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติทั้งในแถบประเทศตะวันตกและตะวันออก ได้รับเชิญไปดูงานในประเทศต่างๆ และรัฐบาลเคยส่งไปดูงานในยุโรปหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น
5. ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสมัยต่างๆ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้อนรับประมุขของประเทศต่างๆ และเจ้านายคนสำคัญ ตลอดทั้งพระราชอาคันตุกะอื่นๆ อีกหลายท่านและหลายครั้ง
ภาระอันหนักจึงตกอยู่กับนายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต ที่ต้องฟื้นฟูปรับปรุงศิลปะด้านนาฏศิลป์ด้วยความลำบากยากเย็นตลอดมา และต้องประสบอุปสรรคนานาประการ แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นในการปรับปรุงฟื้นฟูศิลปะแขนงนี้ให้จงได้ ท่านจึงได้ทุ่มเททำงานนี้อย่างจริงจัง โดยเริ่มปรับปรุงโขนละคร ในตอนแรกท่านยึดโรงเรียนนาฏศิลป์ (ปัจจุบันเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์) เป็นหลัก ท่านเน้นหนักไปในการเรียนวิชาศิลปะโขน ละคร ดนตรีไทย ดนตรีสากล และขับร้อง ได้เชิญศิลปินที่มีฝีมือทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีจากบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นครูฝึกสอนและถ่ายทอดศิลปะให้กับนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ในระยะแรกๆ มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน ต่อมาค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อนักเรียนเรียนจบแล้ว ท่านหาทางให้มีโอกาสได้แสดงนาฏศิลป์และดนตรีให้ประชาชนชม ในการนี้ท่านได้จัดการซ่อมแซมโรงละครศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กำหนดจัดแสดงโขน ละคร ปีละ 2 เรื่อง จนเป็นที่นิยมของผู้ชมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นอกจากโขน ละครแล้ว ท่านยังสนับสนุนให้เกิดนาฏศิลป์แบบคลาสสิก ทั้งยังให้ครูนาฏศิลป์อนุรักษ์และพัฒนานาฏศิลป์พื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เช่นการเต้นกำรำเคียวของชาวอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ นำออกแสดงเมื่อ พ.ศ. 2504 การรำเหย่ยจากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นำออกแสดงเมื่อ พ.ศ. 2506
ผลงานด้านนาฏศิลป์ชิ้นเยี่ยม คือ ระบำโบราณคดีซึ่งประกอบด้วยระบำ 5 ชุดคือระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน และระบำสุโขทัย จัดแสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปฐมฤกษ์ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สภานแห่งชาติพระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510
ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินทั้งหลายได้รับการเชิดชูสนับสนุนเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการ เป็นถึงข้าราชการชั้นเอก ชั้นพิเศษมากมายหลายคน ส่วนทางด้านศิลปะก็เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในยุคนั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511 รวมอยู่ในชีวิตราชการทั้งสิ้น 34 ปี 5 เดือน